โรคกระดูกพรุน ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากคุณยังอายุน้อย หรืออยู่ในช่วงที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เมื่อวันเวลาผ่านไป สังขารย่อมร่วงโรยตามกาลเวลา ความแข็งแรงของกระดูกย่อมมีการเสื่อมถอยลง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อเกิดภาวะกระดูกพรุนจนเกิดการสึกหรอนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือนซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจคือจากสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกมีภาวะกระดูกพรุนร้อยละ 4 ในกลุ่มช่วงอายุ 50-59 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 8% , 25% และ 48% ในกลุ่มอายุ 60-69, 70-79 และมากกว่า 80 ปี ตามลำดับ ในขณะที่ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี พ.ศ. 2563 ของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่อายุตั้งแต่ 40- 59 ปี ประมาณ 13 ล้านคน มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้นเนื่องจาก เมื่ออายุ 40-45 ปี กระบวนการสลายกระดูกจะมากกว่ากระบวนการสร้างกระดูก ซึ่งการลดลงของมวลกระดูกร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูก อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกหักจนต้องได้รับการผ่าตัดรักษา ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว

โดยโรคกระดูกพรุนนี้จะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหลัง กระดูกสันหลังยุบตัวลง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกแขนขาเปราะหักง่ายเมื่อมีแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย

• กระดูกสันหลังพรุน ภัยเงียบ ที่ไม่รู้ตัว
• ป้องกันก่อนวัย ห่างไกลโรคกระดูกพรุน

ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า “แคลเซียม” ถือเป็นแร่ธาตุที่สำคัญของร่างกาย  ประมาณ 99% ของแคลเซียมในร่างกายใช้ในการสร้างกระดูก ฟัน และเล็บ และยังเพิ่มความหนาแน่นให้มวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ส่วนอีก 1% อยู่ในกระแสเลือด มีบทบาทควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ การแข็งตัวของเลือดเมื่อมีบาดแผล  การทำงานของระบบประสาท และช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด

หากได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงแคลเซียมที่สะสมอยู่ในกระดูกออกมาใช้ เมื่อเกิดขึ้นเป็นประจำ แคลเซียมในกระดูกจะถูกดึงออกมามากขึ้น จนกระทั่งเกิดภาวะกระดูกพรุนและเปราะ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

4 แหล่งแคลเซียมที่ดี ตุนก่อนเสี่ยงกระดูกพรุน
  1. นมและผลิตภัณฑ์นม  เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดี เนื่องจากในนมมีปริมาณแคลเซียมสูง และร่างกายนำไปใช้ได้มาก  ในนม 1 กล่อง (250 ซีซี) ให้ปริมาณแคลเซียม 300 มิลลิกรัม
    • ปริมาณแคลเซียม ที่ร่างกายต้องการต่อวัน
  2. ปลาและสัตว์เล็กอื่นๆ  ที่สามารถกินได้ทั้งกระดูกหรือเปลือก  เช่น  ปลาซิว  ปลาเกล็ดขาว ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีนกระป๋อง  กุ้งฝอย  กุ้งแห้ง ฯลฯ โดยปลาตัวเล็กตัวน้อย 2 ช้อนโต๊ะร่างกายจะได้รับแคลเซียม ประมาณ 220 มิลลิกรัม
  3. ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เป็นแหล่งของแคลเซียม  เช่น เต้าหู้แข็ง  เต้าฮวย  นมถั่วเหลืองหนึ่งแก้วประมาณ 200 มิลลิลิตร จะให้แคลเซียมสูงถึง 200-300 มิลลิกรัม
  4. ผักใบเขียว สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับประทานเนื้อสัตว์ ก็สามารถได้รับแคลเซียมจากผักประเภทใบเขียวเข้มได้ เช่น ผักโขม (136 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ผักคะน้า (132 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) กระเจี๊ยบ (77 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) บรอกโคลี (118 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ถั่วฝักยาว (59 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)
ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย

“ช่วงเด็กเล็ก” นับตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือน ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละประมาณ 400 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่เด็กเล็กช่วงอายุ 6 เดือน - 1 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละประมาณ 600 มิลลิกรัม/วัน เพื่อใช้สำหรับเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ฟัน เล็บ รวมถึงช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายให้สมวัย

“วัยเด็ก” อายุ 1 – 5 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน และเด็กที่มีอายุ 6-10 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละประมาณ 800-1,200 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเด็กวัยนี้ต้องการสารอาหารสำหรับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

“วัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่” อายุ 11 – 55 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละประมาณ 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน โดยทั่วไปความหนาแน่นของกระดูกจะเพิ่มสูงสุด (Peak bone mass) ในช่วงอายุ 30-35 ปี โดย 90% ของมวลกระดูก จะสะสมในช่วงที่มีการเจริญเติบโตเร็วก่อนที่จะเป็นวัยรุ่น โดยปกติผู้ชายจะมี Peak bone mass ที่สูงกว่าผู้หญิงประมาณ 15-20% หลังจากนั้นปริมาณของมวลกระดูกจะลดลงช้าๆ ประมาณ 0.5-1 % ต่อปี

“ผู้สูงอายุ” อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ควรได้รับปริมาณแคลเซียมมากกว่าวัยอื่นๆ คือ ประมาณ 1,000-1,500 มิลลิกรัม/วัน เมื่ออายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้ลดลงและไม่สะสมแคลเซียม โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน อัตราการลดลงของมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจสูงถึง 3-6% ต่อปี

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง และสงสัยว่ากระดูกสันหลังของคุณเกิดการยุบตัวจากภาวะกระดูกพรุน สามารถตรวจได้ด้วยการทำ x-ray ร่วมกับ MRI จะช่วยให้การวินิจฉัยภาวะผิดปกตินี้ได้ และสามารถเข้ามาปรึกษาที่ โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ  เพื่อแพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยได้อย่างตรงจุด

ข้อมูลจาก :
นพ.ศรัณย์ จินดาหรา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง

แบ่งปันบทความนี้