ภาวะโรคกระดูกสันหลังที่เกิดจากกระดูกพรุน ถือว่าเป็นภัยเงียบ อย่างหนึ่งที่ไม่ได้มีอาการที่เด่นชัด จะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่น ลื่นล้มจนทำให้เกิดกระดูกสันหลังหัก ทำให้มีอาการปวดรุนแรง บางรายกระดูกสันหลังพรุนจนทรุดตัวเป็นเหตุให้หลังค่อม หรือคด ทำให้ร่างกายเสียสมดุลขณะเดิน และมีอาการปวดหลังเรื้อรังได้

ใครบ้างที่เสี่ยง?

จากสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกที่มีภาวะกระดูกพรุนร้อยละ 4 ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 8% , 25% และ 48% ในกลุ่มอายุ 60-69, 70-79 และมากกว่า 80 ปี ตามลำดับ

ขณะที่มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปี 2553 คนไทยมากกว่า 1 ล้านคน อายุประมาณ 70-80 ปี พบว่ามีภาวะกระดูกพรุน และประมาณ 25 % หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังพรุน

สามารถแบ่งได้ 3 ปัจจัย

1.พันธุกรรม
ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่ เป็นภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นภาวะกระดูกพรุนและเสี่ยงกระดูกหักเพิ่มขึ้น

2.การใช้ชีวิตที่มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน

  • การใช้ยา
    ยาบางชนิดเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ,กลุ่มยาฮอร์โมนบางประเภท ,ยาป้องกันการชัก เป็นต้น
  • การขาดสารอาหาร
    การขาดสารอาหารประเภทแคลเซียม และวิตามินดี มีผลทำให้กระดูกอาจหยุดการเจริญเติบโต และมีการสร้างมวลกระดูกที่ลดลง
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน มีโอกาสเป็นภาวะกระดูกพรุนเร็วขึ้น
  • การสูบบุหรี่สารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่เป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 ม้วนต่อวัน เสี่ยงทำให้กระดูกหักสูงขึ้น 1.5 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่

3.อายุ
ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เซลล์ที่สร้างกระดูกมีจำนวนลดลง ทำให้อัตราการสูญเสียมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น

ภาวะกระดูกพรุนกระทบต่อกระดูกสันหลังอย่างไร?

1.แนวกระดูกสันหลังผิดรูป เช่น หลังค่อม หรือกระดูกสันหลังคด ทำให้ร่างกายเสียสมดุล
2.กระดูกสันหลังหัก หรือยุบตัว บางรายอาจเกิดการกดทับต่อเส้นประสาทไขสันหลังร่วมด้วย

 

การวินิจฉัย

ในกรณีที่สงสัยว่ากระดูกสันหลังเกิดการยุบตัว การทำ x-ray แบบเคลื่อนไหว (motion view) ร่วมกับ MRI จะช่วยให้การวินิจฉัยกับภาวะผิดปกตินี้ได้ (เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ถ้าเกิดปวดหลัง….ต้องทำ X-RAY หรือ MRI ? ที่นี่)

การรักษา

แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นภาวะกระดูกสันหลังพรุนแบ่งออกได้ 2 แบบ

การรักษาทางยา
ในปัจจุบันการใช้ยาในการรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามการออกฤทธิ์ ต่อสมดุลย์ของกระดูกคือ

1.กลุ่มยายับยั้งการสลายกระดูก (Anti-resorptive agents)
2.กลุ่มยากระตุ้นการสร้างกระดูก (Bone forming agents)
3.กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ทั้งยับยั้งการสะลายและกระตุ้นการสร้างกระดูก (Dual action agents)

การรักษาโดยการผ่าตัด
ถ้าหากกระดูกสันหลังเกิดการแตก หัก ทรุด หรือยุบตัว จากภาวะกระดูกพรุน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด และแนวกระดูกสันหลังไม่ค่อมจนผิดรูป การฉีดซีเมนต์ก็จะเป็นผ่าตัดที่มีความเสี่ยงน้อยให้ผลการรักษาที่ดี และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วขึ้น
(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับซีเมนต์รักษากระดูกหัก…จบในวันเดียที่นี่)

ลดความเสี่ยง...เกิดภาวะกระดูกพรุน

1.การฉีดโปรเลีย เป็นกลุ่มยาที่ช่วยลดการสลายของมวลกระดูก โดยปกติจะฉีดทุกๆ 6 เดือนเพื่อลดอัตราเสี่ยงกระดูกหักได้ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก  และกระดูกสันหลัง สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมได้

2.รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญต่อการสร้างกระดูก ร่วมกับรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมทั้งจากพืชและสัตว์เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อป้องกันการหกล้ม

3.รับแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าและตอนเย็น อย่างน้อยวันละ 15 นาที ให้ร่างกายโดนแดดเพียง 15% เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน D ได้จากธรรมชาติ วิตามิน D จะช่วยให้แคลเซียมจากอาหารที่เรากินเข้าไปหรือจากอาหารเสริมที่เรากินเข้าไปดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น

4.การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ก็ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักลงบริเวณข้อต่อต่าง ๆ เช่น การเดินเร็ว ๆ การวิ่งเหยาะ ๆ หรือการเต้นแอโรบิกสำหรับผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยให้กำลังกล้ามเนื้อมีสมรรถภาพที่ดี เพื่อช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มได้อีกทางหนึ่ง

แบ่งปันบทความนี้