“การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกทับเส้นด้วยการยึดน็อตแบบ TLIF คือ การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง เพื่อหยุดการเคลื่อนของกระดูกสันหลังของผู้ป่วย และเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียมในผู้ป่วยที่หมอนรองกระดูกเสื่อม ซึ่งในสมัยก่อนจะทำการผ่าตัดแบบเปิดแผล หลังจากนั้นได้มีการพัฒนามาทำการผ่าตัดด้วยเทคนิค MIS TLIF โดยการใส่ท่อแล้วเลาะกล้ามเนื้อออกบางส่วน แล้วจึงใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไป ล่าสุดด้วยเทคโนโลยีใหม่ในการรักษากระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทด้วยเทคนิค Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) คือ การใช้กล้องเอ็นโดสโคปเพื่อใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไป ซึ่งวิธีนี้จะตัดกล้ามเนื้อน้อยที่สุด ค่อนข้างปลอดภัย และแตกต่างจากเทคนิคเดิม อีกทั้งยังสามารถลดขนาดของแผล และให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้วย” - นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท (Spondylolisthesis) หรือใครหลายคนมักเรียกกันว่า “กระดูกทับเส้น” เกิดจากข้อกระดูกสันหลังข้อใดข้อหนึ่งเคลื่อนออกจากแนวกระดูกสันหลังไปทางด้านหน้า กระดูกสันหลังเคลื่อนสามารถเคลื่อนได้ทุกส่วน แต่มักจะเกิดบริเวณหลังล่าง หรือระดับ L4-L5 มากที่สุด ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นน้อยกว่าเพศชาย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่า ทั้งนี้งานวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการรักษาด้วยเทคนิค Endoscopic TLIF กับการรักษาด้วยเทคนิค MIS TLIF พบว่า ในระยะเวลา 6 เดือน การรักษาด้วยเทคนิค Endoscopic TLIF ร่างกายของผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้ดีกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทด้วยเทคนิค Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) ในโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ที่เริ่มนำเทคนิคนี้เข้ามาใช้ในปี 2566 เป็นต้นมา เพียงแค่ 4 เดือน มีจำนวนผู้เข้ารับการรักษามากกว่า 20 ราย ซึ่งในแต่ละรายมีผลการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจ

• กระดูกเคลื่อนได้อย่างไร
• ท่ายกของถูกต้องป้องกันกระดูกสันหลัง
• มาเช็กกระดูกสันหลังกันเถอะ

วิธีการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ด้วยเทคนิค Full Endo TLIF

ในปัจจุบันการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนมีหลากหลายเทคนิค ซึ่งที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ได้นำเอาวิธีการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบใหม่ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อของผู้ป่วยน้อยมาก นั่นก็คือเทคนิค Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) โดยจะใช้วิธีการเจาะรูส่องกล้องแทนการเปิดแผล เนื่องจากกล้องเอ็นโดสโคปจะถูกสอดเข้าไปโดยที่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อออก ซึ่งแพทย์จะนำส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก เช่น หมอนรองกระดูก เส้นเอ็นและกระดูกสันหลังบางส่วนที่มีปัญหาออก หลังจากนั้นจะใส่หมอนรองกระดูกเทียม (PEEK) ผ่านกล้องเอ็นโดสโคป และทำการเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Interbody Fusion) ด้วยสกรูแบบเจาะรู (Percutaneous Screw) เพิ่มอีก 3 รู จะเห็นได้ว่าการรักษาด้วยเทคนิคนี้ทำลายโครงสร้างของกระดูกสันหลังน้อยมาก และอาการปวดแผลของผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิมหลายเท่า

ทั้งนี้การทำ Endoscopic TLIF จะมีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรก คือ การเจาะและใช้อุปกรณ์ 2 รู หรือเรียกว่า Endoscopic assist TLIF เป็นเทคนิคที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้ แม้ว่าจะเป็นการส่องกล้องแต่คล้ายกับการผ่าตัดเปิดด้านใน และเครื่องมือที่ผ่านเข้าไปในร่างกายทั้ง 2 ด้าน ต้องผ่านชั้นกล้ามเนื้อต่างๆ เมื่อกล้องและเครื่องมือขยับเพื่อหาองศาหรือตำแหน่งที่ต้องทำการรักษาจะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดการบอบช้ำมากขึ้น อีกทั้งกล้องและเครื่องมือไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ทำให้ความเสี่ยงในการใช้เครื่องมืออาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งเทคนิคนี้ใช้เวลาทำหัตถการประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

แบบที่ 2 คือ การเจาะและใช้อุปกรณ์ร่วมกันภายในรูเดียว หรือแบบ Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) ซึ่งวิธีนี้จะใช้อุปกรณ์กล้องที่มีความพิเศษโดยมีช่องสำหรับใส่เครื่องมือเพื่อเข้าไปทำการรักษา โดยการนำหมอนรองกระดูกที่มีปัญหาออก รวมถึงการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมได้ โดยที่เครื่องมือนั้นไม่เข้าไปทำลายกล้ามเนื้อโดยตรง ทำให้ความบอบช้ำลดลงกว่าการใช้อุปกรณ์แบบ 2 รู ซึ่งศัลยแพทย์สามารถมองเห็นเครื่องมือในการรักษาอยู่ตลอดเวลา และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังทำการรักษาผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และภายใน 1 สัปดาห์ผู้ป่วยสามารถเดินได้คล่อง ซึ่งเทคนิคการรักษาแบบ Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) นี้จะมีแค่ที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ที่เดียวเท่านั้น

• การผ่าตัดกระดูกสันหลัง เรื่องใกล้ตัว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
• MRI แบบยืน ค้นหาสาเหตุของคนปวดหลัง
• ปวดหลังไม่หาย...ต้องรักษา

แผลผ่าตัดด้วยวิธี Full Endo TLIF 1 สัปดาห์ หลังจากทำการผ่าตัด
เทคนิคการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อน ด้วยเทคนิค Full Endo TLIF ต่างกับเทคนิคอื่นอย่างไร

Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) หรือ การผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนด้วยกล้องเอ็นโดสโคป โดยเปลี่ยนการรักษาแบบ MIS TLIF มาใช้กล้องเอ็นโดสโคปเพื่อสอดผ่านเข้าไปโดยที่กล้ามเนื้อบางส่วนจะไม่ถูกตัดออก ทำให้เสียเลือดน้อย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตรหรือเท่ากับขนาดนอตที่ยึดกระดูก ทำให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ อาการปวดหลังการผ่าตัดก็น้อยมากหรือแทบจะไม่ต้องทานยาแก้ปวด นอนโรงพยาบาลประมาณ 2-4 วัน ก็สามารถกับบ้านไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ซึ่งการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกทับเส้นด้วยเทคนิค Full Endo TLIF นี้ยังช่วยให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอวมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาสำหรับเทคนิคนี้โดยเฉพาะจึงจะปลอดภัย

MIS TLIF (Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody Fusion ) หรือการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทันเส้นประสาทที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ขนาดของแผลผ่าตัดจะเล็กกว่าการผ่าเปิด ซึ่งการเปิดแผลขนาดเล็กตรงบริเวณกลางหลังประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อสอดอุปกรณ์เข้าไปยังกระดูกสันหลังที่มีปัญหาและตัดกล้ามเนื้อออกมาประมาณหนึ่งแต่ก็ไม่มากเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดแผล ซึ่งก่อนที่แพทย์จะทำการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกและยึดนอตอีก 4 รู ที่มีขนาดของแผลไม่เกิน 1 เซนติเมตร หรือเท่ากับขนาดของนอตที่ยึดกระดูก เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับกระดูกสันหลังแล้ว หลังการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรก ยังต้องใช้ยาแก้ปวดแต่ไม่ต้องใส่สายระบายเลือด ซึ่งหลังจากนั้นการฟื้นตัวของผู้ป่วยจะเร็วกว่าผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดแบบเปิดแผล นอนโรงพยาบาลเพียง 3-4 วัน ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทรักษาได้ ด้วยเทคนิคยึดน็อตนำวิถีแบบ TLIF

การผ่าตัดเปิดแผลเพื่อยึดนอตรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง เพราะด้วยวิธีนี้จะทำการเปิดแผลบริเวณกลางหลัง ซึ่งแพทย์จะทำการเลาะกล้ามเนื้อและตัดกระดูกออกบางส่วน รวมถึงการใส่โลหะดามกระดูกจากทางด้านหลัง เพื่อยึดตรึงกระดูกสันหลังให้อยู่นิ่งและติดกันในที่สุด พร้อมกับใส่สายระบายเลือด โดยส่วนใหญ่หลังการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องนอนอยู่บนเตียงนิ่งๆ เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ประมาณ 5-7 เซนติเมตร หรือตามขนาดของข้อกระดูกที่ต้องทำการผ่าตัด ทั้งนี้ยังต้องนอนที่โรงพยาบาลอีก 4-5 วัน กว่าอาการปวดแผลจะทุเลาลง และผู้ป่วยจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบหรือฝ่อ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนถึงจะกลับมาเดินได้ปกติ

ข้อปฏิบัติตัวหลังการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ด้วยเทคนิค Full Endo TLIF

หลังจากทำการรักษาผู้ป่วยส่วนมากจะดีขึ้น และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ในบางรายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ กว่าที่จะสามารถกลับไปทำงานได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย แม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นหลังจากทำการผ่าตัด แต่ถ้าหากยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม เช่น ก้มตัว นั่งกับพื้น นั่งยองๆ หรือยกของหนัก ก็มีโอกาสต้องกลับมาผ่าตัดใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้หลังการรักษาสามารถออกกำลังกายด้วยการเดินประมาณ 5-10 นาทีในช่วง 6 สัปดาห์แรกได้เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยังไม่สมานตัวดีเท่าที่ควร แต่หลังจาก 6 สัปดาห์ไปแล้ว ผู้ป่วยสามารถเดินได้ระยะไกลหรือใช้ระยะเวลาในการเดินได้มากกว่าเดิม เนื่องจากแผลด้านในดีขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายในลักษณะนี้จะช่วยฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาปกติได้เร็วยิ่งขึ้น

ทำความรู้จัก “กล้ามเนื้อแกนกลาง” Core Muscles  สิ่งสำคัญในการป้องกันกระดูกสันหลังของเราได้
หลังการผ่าตัด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

การดูแลตัวเองไม่ให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกทับเส้น จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข ดังนั้นเราควรดูแลสุขภาพหลังให้อยู่กับเราได้นานๆ ด้วยการออกกำลังการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อให้พร้อม จำกัดระยะเวลาในการเล่นกีฬาที่เพิ่มแรงตึงให้กับกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้การบิดตัวมากๆ หรือการยกน้ำหนัก เพราะอาจเสี่ยงเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนได้ และควรควบคุมน้ำหนักตัวเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนได้

อ้างอิง :
นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง
Percutaneous Endoscopic Transforaminal Lumbar Interbody Fusion: Technique Note and Comparison of Early Outcomes with Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody Fusion for Lumbar Spondylolisthesis (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7910530/)

แบ่งปันบทความนี้