กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) เป็นอาการที่กระดูก, หมอนรองกระดูก, ข้อต่อ, เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลัง เสื่อมสภาพ ส่งผลให้กระดูกสันหลัง ขาดความยืดหยุ่น แข็งตัวมากขึ้น มักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical Spine) และกระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine)
โดยทั่วไปแล้วโรคนี้พบได้ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่านั้นมากขึ้น หากพบว่าความสามารถในการเคลื่อนไหวเริ่มผิดปกติ หรือพบปัญหามือ, แขน, เท้า และขามีอาการชา อ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ ประเมินหาแนวทางรักษา และช่วยป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อมเพิ่ม

อาการของกระดูกสันหลังเสื่อม

อาการของกระดูกสันหลังเสื่อมจะปรากฏอาการปวดคอ หรือปวดหลังซึ่งอาจเป็น ๆ หายๆ แต่บางคนอาจมีอาการปวดเรื้อรัง หรือบางครั้งอาการปวดอาจจะรุนแรงขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง

อาการอื่น ๆ

อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
1.ปวดบั้นเอว
2.กระดูกสันหลังติดแข็งและขยับตัวลำบาก
3.มือ แขน เท้า ขา ข้างใดข้างหนึ่ง
หรือทั้งสองข้างมีอาการชา อ่อนแรง และเป็นเหน็บ
4.ปวดศีรษะ มีไข้ กรณีที่เกิดขึ้นบริเวณคอ
5.กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ค่อยอยู่

ในกรณีที่มีการกดเบียดเส้นประสาทรุนแรง จะทำให้เดินลำบาก เดินแล้วไม่สมดุล ไม่มั่นคงเหมือนจะหกล้ม โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได หรือก้าวขาขึ้นรถ เป็นต้น

สาเหตุ

กระดูกสันหลังเสื่อม คือ การที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จากการที่กระดูกสันหลังโค้งงอเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง และเสียความยืดหยุ่นไป ยกตัวอย่างเช่น การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม พอลุกจากเก้าอี้กระดูกสันหลังจะถูกทำให้ตรงในทันทีจึงทำให้เกิดการเสียดทานขึ้น ร่างกายจึงสร้างกระดูกงอกออกมาจากข้อต่อเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ในบางครั้งกระดูกที่งอกขึ้นมานั้นมีขนาดใหญ่เกินไปจนเบียดกับเส้นประสาทและไขสันหลังทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งมักพบทั่วไปในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจากอาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่ามีอาการปวดลักษณะดังกล่าว แล้วตรวจร่างกายเบื้องต้นสำหรับกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหันศีรษะจากซ้ายไปขวา และให้เอียงศีรษะไปที่บ่า สำหรับการตรวจกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวนั้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยก้มลงหรือเคลื่อนไหวหลังและเอวไปในทิศทางต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อทดสอบว่าการเคลื่อนไหวนั้นถูกจำกัดหรือไม่ และเนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการใช้มือและการเดิน แพทย์อาจทดสอบมือ แขน เท้าและขาของผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตอบสนองต่อการสัมผัสหรือไม่ หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาต่อการตอบสนองที่อาจบ่งบอกถึงความเสียหายของเส้นประสาท แพทย์อาจต้องขอเอกซเรย์เพื่อจะได้วินิจฉัยอาการเพิ่มเติมต่อไป

หากตรวจพบว่าอาการของผู้ป่วยนั้นรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาแบบเดิมอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

1.การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI)

วิธีนี้ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นอวัยวะภายในร่างกายอย่างละเอียด การสแกนโดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุของเอ็มอาร์ไอนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากต่อการตรวจหาความเสียหายของเส้นประสาทที่สำคัญและซ่อนอยู่

2.การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าและการตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG)

ทั้งสองวิธีนี้จะกระทำในเวลาเดียวกันเพื่อให้ผลลัพธ์และรายละเอียดที่ดีที่สุดของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท แต่วิธีและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะแตกต่างกันไป

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าเป็นการวัดความเร็วและความแรงของการส่งสัญญาณประสาท โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ กระตุ้นประสาทของผู้ป่วยผ่านขั้วตรวจจับสัญญาณไฟฟ้า ลักษณะเป็นแผ่นโลหะชิ้นเล็ก ๆ ที่ถูกนำมาวางบนร่างกายของผู้ป่วย

การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อจะมีการใช้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ร่วมกับการใช้ขั้วตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายเข็มเล็ก ๆ สอดผ่านผิวหนังของผู้ป่วยเข้าไปยังกล้ามเนื้อ

แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

หากพบว่ามีอาการ ผู้ป่วยสามารถรักษาตนเองในเบื้องต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณที่ปวด และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นได้เช่นกัน หากยังไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาช่วยแต่ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคหัวใจหรือผู้ที่เคยมีแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ได้ หรือหากรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แนะนำให้ลองวิธีอื่นเช่นการทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง หรือแม้แต่การผ่าตัด แต่การผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง เพราะมีผลข้างเคียงในหลาย ๆ ด้าน หรือการใช้เลเซอร์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านหมอนรองกระดูก ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน วิธีการรักษาต่างๆ มีดังนี้

รักษาด้วยยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต่ออาการกระดูกสันหลังเสื่อม และยาทั่วไปที่ใช้กันได้แก่ ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และนาพรอกเซน (Naproxen)

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาที่ใช้ลดการปวด หาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ แต่หากไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องอาจส่งผลเสียต่อตับได้

รักษาด้วยยาตามใบสั่งแพทย์

การทำกายภาพบำบัดช่วยให้ผู้ป่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวและความแข็งแรง บางกรณีนักกายภาพบำบัดอาจใช้วิธียืดกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาท ให้มีช่องระหว่างกระดูกสันหลังมากขึ้น เพื่อช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยลง
การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังช่วยลดอาการปวดและแผลที่อักเสบบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง

การผ่าตัดมีหลายประเภท เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังหรือการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม แพทย์มักแนะนำวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกของเส้นประสาทถูกกดทับได้แก่ กล้ามเนื้อขาลีบ ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือระบบควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป นอกจากนี้ การผ่าตัดจะถูกนำมาพิจารณาก็ต่อเมื่อการรักษาโดยวิธีอื่น ๆ นั้นใช้ไม่ได้ผล ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ทั้งนี้การผ่าตัดอาจจะช่วยป้องกันอาการไม่ให้แย่ลง แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การใช้เลเซอร์

รักษาหลีกเลี่ยงการผ่าตัด เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ความทันสมัยมากที่สุด ใช้ในกรณีที่หมอนรองกระดูกเสื่อม ปลิ้นกดทับเส้นประสาท เทคนิคนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ระยะเวลาการรักษาและพักฟื้นเร็ว ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่แผลขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกสันหลังเสื่อม

เมื่อกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น

-การกดทับไขสันหลังบริเวณคอ
-แผลกดทับ
-ปอดติดเชื้อเป็น ๆ หาย ๆ
-การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็น ๆ หาย ๆ
-อัมพาตครึ่งล่าง
-อัมพาตแขนขาสองข้าง

และหากกระดูกสันหลังบั้นเอวเสื่อมอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
เมื่อช่องไขสันหลัง (Neuroforamen) ลดลงเหลือน้อยกว่า 30% จากปกติจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่กระดูกสันหลังงอกออกมากดทับเส้นประสาท ที่แย่กว่านั้นคืออาการโพรงกระดูกสันหลังตีบและอาการหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองอาจเกิดขึ้นได้ และยังมีภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้กระดูกสันหลังเอวข้อที่ 4 กดทับลำไส้เล็กตอนต้นอีกด้วย

การป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังเสื่อม

เมื่อเข้าอายุมากขึ้น เราต้องเผชิญกับอาการปวดหลังและคอ แต่สามารถป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

1.นั่งในท่าที่ดี ควรนั่งตัวตรง มีหมอนหรือเบาะรองระหว่างหลังเก้าอี้เพื่อรองรับส่วนบั้นเอว เท้าทั้งสองข้างแตะพื้นพอดี โดยการวางข้อศอกสองข้างบนโต๊ะจะช่วยลดอาการตึงบริเวณบ่าและคอหากต้องพิมพ์งานเป็นเวลานาน ๆ ได้

2.จัดให้คอมพิวเตอร์สูงพอดีในระยะสายตา ช่วยให้สายตาของคุณมองต่ำลงมาเป็นมุม 15-20 องศา เพื่อลดอาการตึงบริเวณคอ
พักการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะ ๆ ผลัดนั่งตัวตรงเป็นเวลา 10-15นาที แล้วลุกขึ้นเดิน ยืดเส้นยืดสายบ้าง

3.ออกกำลังกายโดยใช้ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อและท่าเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง

4.หลีกเลี่ยงการก้ม ๆ เงย ๆ

5.ไม่นั่งหรือทำกิจกรรมที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ

6.หลักเลี่ยงการยกของหนัก

7.ระมัดระวังไม่ให้หลังได้รับการกระทบกระเทือนหรืออุบัติเหตุ

ด้วยความห่วงใย จาก S Spine & Nerve Hospital
รพ.เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท
รักษาโรคที่ต้นเหตุเพื่อการหายอย่างยั่งยืน

สอบถามเพิ่มเติม และทำนัดพบแพทย์
? 02 034 0808
? 09 1414 2525 (24ชม.)
Line : @s-spinehospital
? M.Me/sspinehospital

แบ่งปันบทความนี้