ยิ่งก้ม ยิ่งเสี่ยงปวดคอเรื้อรัง (Text Neck Syndrome)

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา คนทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้ทุกคนหันมาใช้โทรศัพท์มือถือในการเช็คข้อมูลข่าวสาร ซื้อของ หรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์กันแทบจะทุกวินาที และแน่นอนที่สุดเมื่อมีการใช้งานเป็นจำนวนมากและใช้เวลานาน จึงทำให้เกิดภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอาการต่างๆ ของโรคที่เกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์นานๆ ตามมา หนึ่งในนั้นก็คืออาการของโรค Text Neck Syndrome หรือ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ

แล้วคนไทย…ติดสมาร์ตโฟนมากแค่ไหน?

จากการรายงานเกี่ยวกับดิจิทัลของประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 โดย Hootsuite แพลตฟอร์มเกี่ยวกับการจัดการด้านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า คนไทยประมาณ 69.71 ล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 93.39 ล้านหมายเลข (ร้อยละ 134 – คิดจากซิมที่มีผู้ลงทะเบียน) 52 ล้านคน (ร้อยละ75) ใช้อินเทอร์เน็ต และ 52 ล้านคน (ร้อยละ75) ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ

จากตัวเลขข้างต้นพบว่า ประชากรในประเทศไทย มีพฤติกรรมใช้สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ และมีอัตราเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของอาการปวดคอเรื้อรัง ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรค Text Neck Syndrome หรือ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ เพราะต้องก้มหน้าพิมพ์ข้อความแชต และใช้สมาร์ตโฟนจนเกินพอดี ซึ่งบางรายอาจมีอาการปวดคอร้าวลงแขน ร่วมด้วย

ความเสี่ยงจากการเป็น Text Neck Syndrome

จากรายงานของสถาบันเทคโนโลยีการผ่าตัดนานาชาติ (Surgical Technology International) ระบุว่า กระดูกสันหลังของผู้ใช้สมาร์ตโฟน ต้องรับแรงกดจากการก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟนมากถึง 1,000 – 1,400 ชั่วโมงต่อปี

ซึ่งศีรษะของมนุษย์มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม แต่การก้มหน้า ทำให้ตำแหน่งของศีรษะเคลื่อนไปข้างหน้า ยิ่งก้มมากเท่าไหร่ คอยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากการก้มหน้าลงทุกๆ 15 องศา จะทำให้คอและหลังต้องรับน้ำหนักมากขึ้นสูงสุดถึง 27 กิโลกรัม และแสดงออกด้วยอาการปวดคอ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาจปวดคอเรื้อรัง ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดคอร้าวลงแขน ชา หรือปวดร้าวจากคอไปยังมือ หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและมือได้ เนื่องจากการกดทับของเส้นประสาทส่วนคอ ซึ่งเกิดจากหมอนรองกระดูกที่ต้องรับน้ำหนักที่เกิดจากความดันภายในข้อกระดูก สาเหตุจากการก้มหน้าเป็นเวลานานนั่นเอง

-ถ้าก้มหน้า 30 องศา คอรับน้ำหนักเพิ่มเป็น 18 กิโลกรัม
-ถ้าก้มหน้า 45 องศา คอรับน้ำหนัก 22 กิโลกรัม
-ถ้าก้มหน้า 60 องศา คอรับน้ำหนัก 27 กิโลกรัม

วิธีการป้องกันอาการปวดคอเรื้อรัง

การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ หรือ Text Neck Syndrome นั้นสามารถทำได้โดยการปรับลักษณะนิสัยในการใช้สมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการใช้งาน หรือระยะเวลาที่ใช้งาน โดยเราควรให้ท่าทางของคออยู่ในแนวตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ก้มหลัง ไม่ห่อไหล่ ในขณะที่ใช้งานสมาร์ตโฟน และควรมีการพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ หากใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การรักษาอาการ Text Neck Syndrome แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  1. การรักษาอาการโดยการกายภาพบำบัดเช่นการคลายกล้ามเนื้อการยืดกล้ามเนื้อการสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและการปรับท่าทางของร่างกายให้อยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสม
  2. การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ และคลายกล้ามเนื้อ ก็สามารถช่วยลดอาการปวดคอได้เช่นกัน
  3. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนถึงมีการเสื่อมของกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ร่วมกับการกดทับไขสันหลังหรือรากประสาท อาจจะต้องพิจารณาถึงการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องหรือการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์

ซึ่งการผ่าตัดบริเวณกระดูกคอในปัจจุบัน สามารถทำได้โดย การผ่าตัดแบบ MIS Minimally Invasive Surgery หรือ การผ่าตัดผ่านกล้อง โดยการเจาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการรักษาเป็นรูขนาดเล็กๆ เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดลงไป แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งภายในร่างกายที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจน เป็นการผ่าตัดที่เจ็บตัวน้อย ผู้ป่วยไม่ต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน และลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทได้มาก ช่วยให้แพทย์ทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น ผลลัพธ์ของการผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง และการฟื้นตัวของผู้ป่วยเร็วกว่าการผ่าตัดแบบทั่วไป

หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ใช้สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ คุณกำลังเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรค Text Neck Syndrome หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพักสายตาจากหน้าจอ และเตือนตัวเองให้ใช้สมาร์ตโฟนอย่างพอดี จะทำให้คุณห่างไกลจากอาการปวดคอและโรคนี้ได้ หรือหากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น แนะนำให้เข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและหายจากอาการปวดคอและหลังอย่างยั่งยืน

โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ
S SPINE – SPINE EXPERT

แบ่งปันบทความนี้