ส่องกล้องเหมือนกัน แต่ใช้กล้องไม่เหมือนกัน

ปกติการผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับ กระดูกสันหลังในอดีตนั้น จะมีการผ่าตัดเปิดแผลด้านหลังที่ใกล้กับจุดที่ทำการรักษา แต่ด้วยการมองเข้าในจุดที่ทำการรักษานั้น มีขีดจำกัด จำเป็นที่ต้องเปิดแผลกว้าง เพื่อช่วยในการมองเห็น จึงทำให้พื้นที่ที่ไม่เกี่ยวในการรักษา ต้องบอบช้ำ และเป็นที่มาของการพักฟื้นนาน รวมไปถึงความเสี่ยงในการติดเชื้ออีกด้วย ดังนั้น ได้มีการพัฒนาโดยนำกล้องมาใช้ร่วมในการผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นจุดที่จะรักษา ทำให้การเปิดแผลผ่าตัดลดขนาดลง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและชำนาญของศัลยแพทย์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

• หมอนรองกระดูกปลิ้นคือ?
• ปวดหลัง แต่ทำไมร้าวลงขา
• MRI แบบยืน ค้นหาสาเหตุของคนปวดหลัง

ห้องผ่าตัด

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านคงอยากทราบแล้วว่าการรักษาด้วยการ ผ่าตัดส่องกล้อง มีกี่ชนิด กี่แบบ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้กันว่า การผ่าตัดส่องกล้อง หรือ การผ่าตัดผ่านกล้อง มีความแตกต่างกันอย่างไร

อาการปวดหลัง อันเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับ กระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นโรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกปลิ้น จนแขนชา ขาชา หรือบางครั้ง ปวดมากๆ เข้าถึงขั้นทำอะไรไม่ได้เลยทีเดียว

เมื่อลองค้นหาข้อมูลการรักษาหลายๆ อย่าง หรือรักษามาหลายแบบ จนบางครั้งมาถึงจุดที่ต้อง ผ่าตัด ก็จะพบกับคำว่า “ผ่าตัดส่องกล้อง ดี ปลอดภัย” แต่การ ผ่าตัดส่องกล้อง นั้น มีรายละเอียดของเครื่องมือและความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ในบางครั้ง เราจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจเบื้องต้น เพื่อประเมินการตัดสินใจในการรักษาได้เช่นกัน

Microscope

หรือกล้องจุลทรรศน์ เป็นกล้องที่มีอัตรากำลังขยายภาพปกติในจุดที่ทำการผ่าตัด 20-100 เท่า การมองนั้นยังคงมองผ่านกล้องจากภายนอก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดพยาธิสภาพ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จึงทำให้แผลผ่าตัด จากในอดีตมีการเปิดแผลใหญ่ และเสี่ยงสูง มีขนาดเล็กลงเหลือ 3-5 เซนติเมตร ปลอดภัยมากขึ้น

แม้ว่าจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแต่ขั้นตอนการผ่าตัดยังคงเป็นวิธีการเดิมทั้งหมด คือเปิดแผล เลาะกล้ามเนื้อ หรืออาจจำเป็นต้องตัดชิ้นส่วนกระดูกสันหลังบางส่วนออกเพื่อให้ถึงยังจุดที่กดทับเส้นประสาท จึงทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักอยู่ที่ รพ.โดยประมาณ 3-4 วัน

Micro-endoscope

การผ่าตัดส่องกล้องด้วยวิธีนี้เป็นการพัฒนาเพื่อลดความบอบช้ำของผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยเปิดแผลลดลงเหลือ 2 เซนติเมตร จากนั้นนำท่อเจาะลงไปให้ใกล้จุดที่ทำการรักษา แล้วมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทำการรักษา วิธีนี้ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้นที่สำคัญ การเปิดแผล และการเลาะกล้ามเนื้อหลังก็ลดลง ทำให้ผู้ป่วยพื้นตัวได้มากยิ่งขึ้น

การผ่าตัดส่องกล้องของ 2 วิธีที่กล่าวมานั้น ยังมีข้อจำกัดที่แพทย์นั้น ต้องมองผ่านกล้องจากภายนอกร่างกายของผู้ป่วย และคงเป็นคำถามที่แพทย์หลายท่านยังคงคิดว่า ถ้าตาเราเข้าไปเห็นข้างในของร่างกายคนเราได้ก็คงดี กล้อง Endoscope จึงถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในการรักษาเพื่อให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

Endoscope

กล้องเอ็นโดสโคป มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร โดยภายในมีระบบนำแสงพิเศษ เพื่อช่วยในการมองเห็น และมีช่องที่จะสอดเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น เลเซอร์ หรือ อุปกรณ์รักษาพิเศษอื่นๆ เพื่อเข้าไปรักษาตรงจุดที่เป็นสาเหตุได้สะดวกยิ่งขึ้น และเมื่อกล้องถูกมองเห็นจากปลายอุปกรณ์แล้ว การเปิดแผลจึงเล็กมากตามขนาดของอุปกรณ์ ความบอบช้ำของแผล และอัตราการเสี่ยงติดเชื้อจึงลดลงตามลำดับผู้ป่วยจึงฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง

กล้องเอ็นโดสโคปที่มีใช้กันตอนนี้ คือ

PELD (Percutaneous Endoscopic Lumbar Discectomy)

ถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน แต่จะให้ได้ผลการรักษาที่ดีนั้น จำเป็นต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือสูง จึงจะได้ผลการรักษาที่ดี และมีผลแทรกซ้อนน้อย

PSLD (Percutaneous Stenoscopic Lumbar Decompression)

ที่ประเทศไทย ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในการรักษาปัจจุบัน เนื่องจากขาดบุคลากรในการใช้ ซึ่งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมีน้อยมาก ดังนั้น แพทย์จึงมีความสำคัญมากที่จะเป็นต้องพัฒนาและศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ

การรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองให้ห่างจากโรคภัย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรักษาโรคที่ต้นเหตุและได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการวินิจฉัยที่ดี จึงมีประโยชน์กับผู้ที่ได้รับการรักษาเป็นอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาข้อมูลที่ดีจะสามารถช่วยในการตัดสินใจของเราในการเข้ารับการรักษาได้อย่างสูง

ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท

แบ่งปันบทความนี้