อาการแบบไหนคือ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” (Herniated Nucleus Pulposus)

ปวดหลัง แต่ทำไมร้าวลงที่ขา คือ สิ่งที่ใครหลายคนอาจสงสัยถึงอาการที่กำลังเกิดขึ้นกับตัว แต่นี่คือหนึ่งในอาการที่เด่นชัดที่สุดของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Pulposus) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ และเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากที่สุดในช่วงวัยทำงาน

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ ภาวะเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมจากการใช้งานมานาน ไม่ว่าจะเป็นการก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ ยกของหนักผิดท่า หรือจากอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรง จนทำให้สารนํ้าหรือเจลลี่ในหมอนกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ทางด้านหลัง ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ

สัญญาณเตือนที่บอกว่า คุณอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • ปวดหลังเรื้อรังบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน
  • ปวดหลังร้าวลงขา ตั้งแต่สะโพกไปถึงบริเวณน่องหรือเท้า
  • ไม่สามารถเดินได้ไกล และมีอาการปวดชาลงไปถึงขาคล้ายเป็นตะคริว ต้องหยุดพัก จึงจะเดินต่อไปได้
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่บริเวณขา กระดกข้อเท้าไม่ได
  • บางรายอาจมีปัญหาควบคุมระบบการขับถ่าย

ระดับความรุนแรงของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

  • ระยะเริ่มต้น
    เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีความเสื่อม จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ ปวดหลังเรื้อรัง โดยอาการปวดในช่วงแรกอาจจะเป็นๆ หายๆก่อนจะปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นความทรมาน
  • ระยะปานกลาง
    เป็นระยะที่หมอนรองกระดูกเริ่มเคลื่อน หรือปลิ้นออกมากดเบียดเส้นประสาท จนเกิดอาการปวดร้าวจากคอไปถึงแขน หรือจากหลังไปถึงขาและเท้า รวมถึงอาจมีอาการชาร่วมด้วย
  • ระยะรุนแรง
    เมื่อการกดทับเส้นประสาทรุนแรงขึ้น อาการปวด ชา และอ่อนแรงจะเป็นมากขึ้น จนเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บและเสี่ยงต่อความพิการได้ จึงควรได้รับการรักษา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยทันทีเพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต บางรายปวดหลังมากจนขยับไม่ได้ ขาพับและท่อนล่างไร้ความรู้สึก หรือที่เรียกว่าเป็นอัมพาตแบบเฉียบพลัน

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทรักษาได้
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างมาก ด้วยการรักษาโรคกระดูกสันหลังแบบ MIS SPINE แผลเล็กเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ทำให้การรักษาโรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นเรื่องง่ายและหายเร็ว ความปลอดภัยสูง เสียเลือดน้อยโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำช่วยลดการทำลายกล้ามเนื้อของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วยิ่งขึ้น หากเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่เมื่อใดที่ปล่อยทิ้งไว้นานๆฝืนและทนต่อความเจ็บปวด ไม่เข้ารับการรักษาใดๆ นอกจากอาการชาขาที่เป็นอยู่ จะมีอาการขาอ่อนแรงกล้ามเนื้อขาข้างที่ชาจะเริ่มฝ่อลีบ สูญเสียประสาทรับความรู้สึกและสั่งการบางส่วน เดินเซเสี่ยงล้ม และท้ายที่สุด ก็จะเดินไม่ได้อีกต่อไป

แบ่งปันบทความนี้