PSLD เทคนิครักษาโรคปวดหลังใหม่ล่าสุด แผลเล็ก เจ็บตัวน้อย เทคโนโลยีที่ทันสมัย และปลอดภัย

โรคโพรงประสาทตีบแคบ (Lumbar spinal stenosis)

อาการปวดหลัง ปวดเอว มักก่อให้เกิดความรำคาญและทรมานต่อร่างกาย บางคนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข อาการที่พบบ่อย และที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด คือ โรคโพรงประสาทส่วนเอวตีบแคบ (Lumbar spinal stenosis)

โรคโพรงประสาทส่วนเอวตีบแคบ คือ ภาวะที่มีการตีบแคบลงของโพรงที่เป็นช่องว่าง ตลอดความยาวภายในกระดูกสันหลัง ที่เรียกกันว่าโพรงกระดูกสันหลัง หรือโพรงประสาท (Spinal canal)

ซึ่งเป็นช่องทางผ่านของเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord) โดยการตีบแคบอาจเกิดเพียงระดับเดียว หรือหลายระดับของโพรงกระดูกสันหลังก็ได้

ช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ อาจเกิดจากภาวะกระดูกหนาตัวขึ้น, เอ็นหนาตัวขึ้น, หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง), กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis), มีอาการขาชา หรือมีภาวะต่างๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นร่วมกัน

โพรงประสาทตีบเเคบ
สาเหตุ ที่พบได้บ่อย คือ
1.ความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง
2.การเสื่อมตามอายุ
3.โรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น โรคกระดูกต่างๆ (โรคกระดูกพรุน,กระดูกเสื่อม)

อาการของโรค
โรคโพรงประสาทส่วนเอวตีบแคบ มักทำให้ผู้ป่วยเกิดมีอาการปวดหลังโดยอาจพบร่วมกับ อาการปวดร้าวลงขาข้างเดียว หรือ 2 ข้างพร้อมๆ กันก็ได้, เดินแล้วมีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงหรือปวดขา อาการขาชา ปวดน่อง จนต้องหยุดเดินเป็นพักๆ ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทเอวถูกกดทับ หรือภาวะขาดเลือดของเส้นประสาท และพบบ่อยว่าทำให้เกิดอาการเดินลำบาก  ส่งผลถึงการดำรงชีวิตประจำวันได้

นอกจากนั้น อาจมีอาการขาชา ปวดหรือในบางครั้ง รู้สึกหนักบริเวณก้นหรือสะโพก ร้าวลงขา ในขณะกำลังเดินหรือยืนนาน อาจมีอาการผิดปกติทาง ปัสสาวะ อุจจาระได้ (เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก) และอาจเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

ทั้งนี้ อาการต่างๆ มักดีขึ้นเมื่อก้มตัวหรือนั่งลง และมักไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากเมื่อนั่งหรือนอนหงาย ผู้ป่วยจะเดินได้ไกลมากขึ้น และปวดน้อยลง เมื่อก้มตัวไปด้านหน้า แต่อาการจะมากขึ้นเมื่อแอ่นหลัง

ควรพบแพทย์เมื่อไร

ผู้ป่วยที่ควรพบแพทย์ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดขา (บางรายไม่มีอาการปวดขา) ปวดหลังมาก จนส่งผลกระทบต่อการเดิน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เดินนานไม่ได้ หยุดเดินบ่อยๆ หรือเดินได้ระยะทางสั้นลง หรือมีกล้ามเนื้อขาลีบ ขาชา และมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย

นอกจากนี้ ถ้ามีอาการปวดบริเวณด้านหลังขา ร่วมกับมีอาการไข้ หรือน้ำหนักลดมาก เบื่ออาหาร ปวดมากขณะนอนพัก หรือปวดช่วงกลางคืนอย่างรุนแรง

ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่า อาจมีปัญหาที่มาจากการติดเชื้อ หรือจากโรคมะเร็งของกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจึงควรรีบพบแพทย์โดยเร่งด่วน

ใครบ้างมีโอกาสเป็นโรคนี้

1.คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
2.คนอ้วน
3.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
4.ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

การตรวจวินิจฉัยอาการขาชาหรือปวดร้าวลงขา

แพทย์จะวินิจฉัยโรคโพรงประสาทส่วนเอวตีบแคบ ได้จากอาการที่ผู้ป่วยบอกเล่าเป็นหลัก การตรวจร่างกายและใช้การตรวจเอกซเรย์ (X-RAY) และเอ็มอาร์ไอ MRI (Magnetic resonance imaging) โดยเบื้องต้นเป็นการตรวจเอกซเรย์กระดูกสันหลังแบบธรรมดาก่อน เพื่อประเมินโครงสร้างว่ามีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังจริงหรือไม่ การตรวจเอ็กซเรย์ธรรมดาจะช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์ (โดยการตรวจเอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนเอว พบหลักฐานของหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม) แต่แพทย์จะไม่ได้ใช้ผลการตรวจเอกซเรย์เป็นหลัก (ใช้อาการผู้ป่วยและการตรวจร่างกายเป็นหลัก) เพราะบ่อยครั้งที่ตรวจพบความผิดปกติในภาพเอกซเรย์ แต่ผู้ป่วยกลับไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามที่ควรจะเป็น หรือมีอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อลีบ การขับถ่ายผิดปกติ ก็จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ก็จะส่งตรวจเอ็มอาร์ไอ MRI (Magnetic resonance imaging) กระดูกสันหลัง เพื่อประเมินความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และเส้นประสาทว่ามีการถูกกดทับจากกระดูกหรือไม่

หมอนรองกระดูกปลิ้นคือ?
MRI แบบยืน ค้นหาสาเหตุของคนปวดหลัง
มาเช็กกระดูกสันหลังกันเถอะ

การรักษา

วิธีการรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ ประกอบด้วย การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด และ การผ่าตัด

1.การรักษาด้วยยา เช่น

  • ยาต้านการอักเสบ เพื่อลดอาการปวดที่เล็กน้อยและปานกลาง ซึ่งผลข้างเคียงของยา เช่น ปวดท้อง แผลในกระเพาะอาหาร ปัญหาทางตับ และไต
  • ยาแก้ปวด ใช้เพื่อลดอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้เพื่อลดการหดเกร็งตึงตัวของกล้ามเนื้อ อาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ก็จะลดลงได้
  • ใช้ยาหลายๆ ชนิดร่วมกัน เพื่อลดอาการปวด และลดการอักเสบ เช่น ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด (ที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
  • ยากันชักบางชนิด (ที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ

2.การทำกายภาพบำบัด เพื่อรักษาอาการปวด เช่น การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยการใช้เครื่อง Transcutaneous electrical nerve stimulation (TENS) การนวด การใช้คลื่น อัลตร้าซาวด์ การฝังเข็ม (Acupuncture) การดึงขยายข้อต่อกระดูกสันหลัง (Traction ) และการฝึกกล้ามเนื้อหลัง และขาให้มีความแข็งแรง เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี

3.การผ่าตัด เมื่อการใช้ยาและการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล, อาการที่เกิดขึ้นส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเสียการควบคุมระบบขับถ่าย โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัด เพื่อลดการกดทับต่อเส้นประสาทและไขสันหลัง (แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์)

ด้วยเทคนิคพิเศษเฉพาะทางของรพ. S Spine and nerve ให้ผลการรักษาที่ดีกว่า ปลอดภัย แผลเล็ก เจ็บตัวน้อยกว่า ด้วย เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแผลขนาดเล็ก เพียง 0.5 เซนติเมตร

การส่องกล้องรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบตัน (Percutaneous Stenoscopic Lumbar Decompression : PSLD)

การส่องกล้องรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบตัน แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic decompression) ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 5.0 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic decompression) จะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาอยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก

ทางเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ มีข้อดี คือ
1.แผลผ่าตัดขนาดเล็กมาก เพียง 0.5 เซนติเมตร
2.สูญเสียเลือดน้อย
3.ฟื้นตัวเร็ว หลังจากผ่าตัดสามารถลุกขึ้นได้
4.ความปลอดภัยสูง
5.ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
6.นอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน ก็กลับบ้านได้
7.ค่าใช้จ่ายน้อยลง เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยแบบเดิม
8.ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด
9.หลังเข้ารับการรักษาสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

กล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic decompression) เป็น “เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่าด้ามปากกา”  มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 5.0 มิลลิเมตร มีเลนส์ติดอยู่ที่ปลาย โดยปลายของเลนส์จะมีลักษณะเป็นมุมเอียงเล็กน้อยเพื่อช่วยในการมองเห็นอวัยวะต่างๆ รอบข้าง นอกจากนี้ภายในยังมีใยแก้วนำแสงเพื่อช่วยในการมองเห็น รวมถึงท่อส่งน้ำขนาดเล็กอีกด้วย

ขั้นตอนการรักษาโพรงกระดูกสันหลังตีบตันผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

หลังจากที่ผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคป ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 5.0 มิลลิเมตรเข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับอยู่โดยตรง โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก

กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน สามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือจากการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็นก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที จากนั้นผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีภายหลังการผ่าตัด

การดูแลตนเองและการป้องกัน

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคนี้จะดูแลป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคนี้ได้อย่างไร

1.ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง
2.ห้ามยกของหนัก
3.หลีกเลี่ยงการก้มๆ เงยๆ และการนั่งทำงานในท่าหนึ่งท่าใดนานเกิน 2 ชั่วโมง
4.ปรับพฤติกรรมการใช้หลังให้ถูกวิธี
5.ทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง
6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน แต่ต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก

หากท่านใดที่กำลังมีอาการปวดหลัง หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และยังไม่ได้เข้ารับการรักษา สามารถปรึกษาเราเพื่อประเมินแนวทางการรักษา เพื่อการหายอย่างยั่งยืน ทาง รพ.มีเทคนิคและเครื่องมือที่ทันสมัยครบวงจร
โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็กบอบช้ำน้อย ฟื้นตัวไว ปลอดภัย

แบ่งปันบทความนี้